การออกแบบฐานรากคอนกรีตเสริมเหล็ก (Design of Concrete Footing)เมื่อ พูดถึงฐานรากของโครงสร้าง เราก็จะนึกถึงชิ้นส่วนของสิ่งก่อสร้างชิ้นหนึ่ง ที่วางอยู่ในพื้นดิน บางอันก็วางบนดินโดยตรง บางอันก็วางอยู่บนวัตถุแท่งสี่เหลี่ยมบ้าง กลมบ้าง หรือรูปทรงเรขาคณิตอื่นๆ บ้าง ซึ่งจะทำหน้าที่รองรับน้ำหนักของโครงสร้างทั้งหมดของอาคารเพื่อส่งต่อ ให้กันชั้นดินด้านล่าง แต่ทำไมเราไม่ใช้แบบใดแบบหนึ่งล่ะ?
นั่นก็เพราะชั้นดินในแต่ละพื้นที่นั้น มีความสามารถในการรองรับน้ำหนักบรรทุกได้แตกต่างกันนั่นเอง ดังนั้นเราจึงต้องเลือกใช้ฐานรากให้เหมาะสมกับลักษณะของชั้นดินในบริเวณ นั้นๆด้วย เพื่อความมีเสถียรภาพของโครงสร้างและประหยัดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ฐานรากโดยทั่วไปที่เราพบเห็นอยู่เป็นประจำในชีวิตประจำวันก็สามารถจำแนกได้ หลายประเภท ตามลักษณะการก่อสร้าง แต่เราสามารถแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท คือ
1. ฐานรากแผ่ (Spread Footing or Shallow Foundation) เป็น ฐานรากที่รองรับน้ำหนักจากโครงสร้างเพื่อทำการส่งถ่ายลงสู่ชั้นดินที่รองรับ โดยตรง ซึ่งในการออกแบบหรือเลือกใช้ฐานรากประเภทนี้ จะต้องคำนึงถึงคุณสมบัติทางด้านกลศาสตร์ของชั้นดินในบริเวณนั้น ว่ามีความสามารถในการรองรับน้ำหนักบรรทุกต่อหน่วยพื้นที่เท่าไร เช่น ถ้าเป็นชั้นดินเหนียวอ่อนหรือชั้นทรายหลวมก็จะรองรับน้ำหนักบรรทุกต่อหน่วย พื้นที่ได้น้อย แต่ถ้าเป็นชั้นดินเหนียวดาลหรือชั้นทรายแน่นก็จะสามารถรองรับน้ำหนักบรรทุก ได้มากขึ้นตามลำดับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นฐานรากแผ่ก็ควรที่จะวางบนชั้นดินที่มีค่า SPT มากกว่า 20 ครั้ง/ฟุต เพื่อความมีเสถียรภาพของฐานราก ซึ่งฐานรากแผ่ชนิดต่างๆ ได้แก่ ฐานรากเดี่ยว ฐานรากตีนเป็ด ฐานรากร่วม ฐานรากกำแพง ฐานรากปูพรม
2. ฐานรากเสาเข็ม (Piling Footing or Pile Foundation) เป็น ฐานรากที่รองรับน้ำหนักจากโครงสร้างเพื่อทำการส่งถ่ายลงสู่เสาเข็มก่อนที่ เสาเข็มจะส่งถ่ายลงสู่ชั้นดินต่อไป ฐานรากประเภทนี้จะถูกเลือกใช้ก็ต่อเมื่อไม่สามารถที่จะใช้ฐานรากแผ่รองรับ น้ำหนักทั้งหมดได้ หรือชั้นดินในบริเวณนั้นเป็นชั้นดินอ่อนซึ่งชั้นดินแข็งอยู่ลึกลงไปเกินกว่า ที่จะก่อสร้างเป็นฐานรากแผ่ได้ ซึ่งฐานรากเสาเข็มนี้ก็จะสามารถแยกย่อยออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ฐานรากเสาเข็มตอก (Driven Pile) ฐานรากเสาเข็มเจาะ (Bored Pile) แต่จะไม่ขอกล่าวรายละเอียดในที่นี้ ทั้งนี้ฐานรากเสาเข็มก็จะต้องพยายามนำปลายเสาเข็มไปวางในชั้นดินเหนียวแข็ง หรือชั้นทรายแน่น เพราะชั้นดินเหล่านี้จะมีความสามารถในการรองรับน้ำหนักบรรทุกได้สูง อย่างไรก็ดี การเลือกใช้ฐานรากประเภทนี้ ควรจะต้องทำการเจาะสำรวจสภาพของชั้นดินในบริเวณนั้นเพื่อให้ทราบถึง คุณสมบัติของชั้นดินแต่ละชั้นเพื่อที่จะเลือกใช้ประเภทของฐานรากเสาเข็มที่ เหมาะสมต่อไป
ข้อกำหนดทั่วไปในการออกแบบฐานรากคอนกรีตเสริมเหล็ก ตามมาตรฐาน วสท.1007-34
1. ความหนาของคอนกรีตหุ้มเหล็กจะต้องไม่น้อยกว่า 7.5 ซม.
2. ความหนาประสิทธิผล (d) จะต้องไม่น้อยกว่า
- 15 ซม. สำหรับฐานรากแผ่
- 30 ซม. สำหรับฐานรากเสาเข็ม
3. เสาตอม่อที่เป็นเสากลม หรือเสาเหลี่ยมใดๆ ให้ถือว่าขอบเสานั้นเป็นเสาสี่เหลี่ยมจัตุรัส
4. ประมาณน้ำหนักของฐานรากในเบื้องต้นโดยให้คิดประมาณ 10 – 15% ของน้ำหนักบรรทุกที่กระทำ
5. เสาตอม่อควรมีความยาวประมาณ 1.00 – 1.50 เมตร ขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นที่หรืองานระบบที่ต้องวางลอดใต้อาคาร
6. ฐานรากที่ต้องรับแรงดัดหรือแรงสั่นสะเทือน ควรจะต้องมีเหล็กเสริมพิเศษฝังยึดระหว่างเสาเข็มและฐานราก เพื่อป้องกันไม่ใข้ฐานรากหลุดจากเสาเข็ม
7. ก่อนการก่อสร้างฐานรากควรรองพื้นด้วยทรายและคอนกรีตหยาบเพื่อรองรับน้ำหนัก บรรทุกของคอนกรีตสด และป้องกันไม่ให้แบบหรือเหล็กเสริมสกปรก
ที่มา : www.civilclub.net